วันพฤหัสบดีที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2553

จุดเริ่มต้นของการพัฒนาเยาวชน

ย้อนกลับมายังหัวข้อต่าง ๆ ที่พูดไปแล้ว อาตมาได้เริ่มการมองศาสนาและจริยธรรม ที่เยาวชนโดยสัมพันธ์กับตัวเด็กเอง นี่เป็นจุดเริ่มแรกก่อน การที่เราจะมองเด็กโดยสัมพันธ์กับสังคมไทย หรือสังคมโลกก็ตาม โดยสัมพันธ์กับกาลสมัยใดก็ตาม จุดแรกต้องเริ่มที่ตัวเด็กเองว่า เราจะเอาอย่างไรกับเด็ก ศาสนาและจริยธรรมมีคุณค่าอะไรที่จะให้แก่เด็ก เราจะสร้างเด็กให้มีบุคลิกภาพอย่างไร ให้เขาใช้ชีวิต อย่างไร ทำอย่างไรจึงจะทำคนให้มีความสุข ไม่เป็นปัญหาแก่ตัวของเขาเอง ซึ่งจะส่งผลต่อไปยังสังคม ดังที่กล่าวมาแล้ว เหล่านี้เป็นเรื่องของตัวเด็กเอง ซึ่งเป็นปัญหาพื้นฐาน คือ หน้าที่หรือบทบาทชั้นแรกชั้นต้น ของศาสนาและจริยธรรม ที่จะต้องสร้างเยาวชนให้เป็นคนมีคุณภาพ เป็นคนซึ่งพร้อมที่จะอยู่ได้อย่างดีในทุกยุคทุกสมัย และเป็นที่ต้องการของสังคมทุกยุคทุกสมัย ในเวลาที่พูดถึงตัวเด็กเองนี้ การมองจะ สัมพันธ์กับกาลเวลาด้วยในแง่ที่ว่า ไม่ต้องขึ้นกับกาลเวลาในยุคสมัยใด เพราะเด็กที่มีคุณภาพที่ดีอย่างแท้จริงนั้น ถ้าเราผลิตขึ้นมาได้ ก็เป็นเด็กที่อยู่ในยุคสมัยใดก็ได้ ในเรื่องนี้เพื่อความรวบรัด จะขอนำหลักธรรมของพระพุทธเจ้ามาแสดงไว้ หลักธรรมที่เราจะนำมาใช้พัฒนาเยาวชน โดยสัมพันธ์กับตัวของเขาเอง หรือชีวิตของเด็กเองนั้น ได้แก่หลักธรรมชุดที่เรียกว่า รุ่งอรุณของการศึกษา หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "แสงเงินแสงทองของชีวิตที่รุ่งเรือง" อาตมาจะต้องขอเน้นย้ำถึงหลัก ธรรมชุดนี้บ่อย ๆ
ที่เรียกว่า แสงเงินแสงทองของชีวิตที่รุ่งเรืองหรือของชีวิตที่ดีงามนี้ ก็เพราะว่าในพระพุทธศาสนาท่านเรียกชีวิตที่ดีงามว่า "มรรค" พระพุทธเจ้าตรัสว่า มรรค คือการดำเนิน ชีวิตที่ดีงามนี้ มีสิ่งที่เป็นตัวนำมาก่อน สิ่งที่นำหน้ามาก่อนที่จะเข้าถึงการดำเนินชีวิตที่ดีงามนี้ ท่านเปรียบเหมือนแสงเงินแสงทอง หรือแสงอรุณ ท่านกล่าวว่า เมื่อพระอาทิตย์จะอุทัยขึ้นมา ย่อมมีแสงเงินแสงทองขึ้นมาก่อน ฉันใด ก่อนที่มรรคจะเกิดขึ้น ก็จะมีธรรม ๗ ประการนำหน้ามาก่อน ฉันนั้น ดังนั้น ธรรม ๗ ประการนั้นจึงเป็นรุ่งอรุณของชีวิตที่ดีงาม หรือชีวิตที่รุ่งเรือง
โดยทั่วไปนั้นเรามักจะมองแต่มรรค คือมองว่า หลัก ธรรมภาคปฏิบัติทั้งหมดในพระพุทธศาสนา หรือการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง ก็คือมรรค แต่ทำอย่างไรจึงจะเข้าถึงมรรคนั้น ทำอย่างไรมรรคจะเกิดขึ้น เราไม่ค่อยมอง ทั้งที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้แล้ว และทรงเน้นไว้บ่อย ๆ ด้วยว่า มีธรรมอยู่ ๗ ประการที่เป็นแสงอรุณของมรรค หรือเป็นตัวชักนำเข้าสู่การดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง บางทีก็เรียกว่า รุ่งอรุณของการศึกษา ทำไมจึงเรียกว่ารุ่งอรุณของการศึกษา เพราะ สิกขา หรือการศึกษา ก็คือการทำให้คนสามารถดำเนินชีวิตที่ดีนั่นเอง ดังนั้น จึงโยงสิกขากับมรรคเข้าหากันว่า การศึกษาก็คือการฝึกฝนอบรม หรือการพัฒนาคนให้สามารถดำเนินชีวิตตาม มรรค สิกขาสัมพันธ์กับมรรค เราจะเห็นว่า สิกขาก็มี ๓ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา มรรคมีองค์ ๘ ประการ ก็สรุปได้เป็น ๓ เรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เหมือนกัน ทำไมจึงซ้ำกัน ก็เพราะว่า ๒ อย่างนี้ ต้องอาศัยกัน มรรคคือการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องดีงาม จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ก็ต้องมีการฝึกให้มีการ ดำเนินชีวิตอย่างนั้น การฝึกให้มีการดำเนินชีวิตอย่างนั้น คือ สิกขา สิกขาก็คือการฝึกคนให้สามารถดำเนินชีวิตให้ถูกต้อง ดีงามตามมรรค สิกขา มีศีล สมาธิ ปัญญา มรรคก็รวมลงในศีล สมาธิ ปัญญา ดังนั้น ธรรมที่เป็นรุ่งอรุณของมรรค ก็เป็นรุ่งอรุณของสิกขา คือเป็นรุ่งอรุณของการศึกษาด้วย ด้วยเหตุผลดังกล่าว ธรรมหมวดนี้จึงเรียกว่า รุ่งอรุณของการ ศึกษาก็ได้ เป็นแสงเงินแสงทองของชีวิตที่รุ่งเรืองดีงามก็ได้ เราจะต้องเห็นความสำคัญของหลักธรรมที่เป็นรุ่งอรุณนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น