ความอิ่มเอิบ ด้วยอารมณ์ ทางรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส นั้น เป็นอาหารของฝ่ายโลก ความอิ่มเอิบด้วยปีติและปราโมชอันเกิดจากความที่ใจสงบจากอารมณ์เป็นอาหารของฝ่ายธรรมอุดมคติของชีวิต คือ ความถึงที่สุดแห่งอารยธรรมทั้งฝ่ายโลกและฝ่ายธรรมเพราะฉะนั้น ชีวิตย่อมต้องการอาหารทั้งฝ่ายโลกและฝ่ายธรรม ถ้ามีเพียงอย่างเดียว ชีวิตนั้น ก็มีความเป็นมนุษย์ เพียงครึ่งเดียว หรือ ซีกเดียว.เราหาความสำราญให้แก่กายของเราได้ไม่สู้ยากนัก แต่การหาความสำราญให้แก่ใจนั้นยากเหลือเกิน ความสำราญกายเห็นได้ง่ายรู้จักง่าย ตรงกันข้ามกับความสำราญทางใจ แต่ไม่มีใครเชื่อเช่นนี้กี่คนนัก เพราะเขาเชื่อว่าไม่มีความสำราญอย่างอื่นที่ไหนอีกนอกจากความสำราญทางกาย และเมื่อกายสำราญแล้วใจก็สำราญเองคนพวกนี้ ไม่ฟังธรรมหรือศึกษาธรรมและไม่ไหว้พระสงฆ์ซึ่งเป็น นิมิต อันหนึ่งของธรรม.ความสำราญทางกาย หรือฝ่ายโลกนั้น ต้อง"ดื่ม" หรือ ต้อง"กิน" อยู่เสมอจึงจะสำราญ แต่ที่แท้มันเป็นเพียงการระงับ หรือกลบเกลื่อนความหิวไว้ทุกชั่วคราวที่หิวเท่านั้น ส่วนความสำราญฝ่ายใจหรือฝ่ายธรรมนั้น ไม่ต้องดื่ม ไม่ต้องกิน ก็สำราญอยู่เอง เพราะมันไม่มีความหิว ไม่ต้องดื่มกินเพื่อแก้หิวที่กล่าวนี้ ผู้ที่นิยมความสำราญทางกายอย่างเดียว อาจฟังไม่เข้าใจก็ได้แต่อย่าเพ่อเบื่อหน่าย ขอให้ทนอ่านสืบไปอีกหน่อยพวกที่นิยมความสำราญกาย ในทางโลก กล่าวว่า "ใจอยู่ในกาย" แต่พวกนิยมความสำราญใจ ในทางธรรม กล่าวว่า "กายอยู่ในใจ"พวกแรกรู้จักโลกเพียงซีกเดียว พวกหลังอยู่ในโลกนานพอจนรู้จักโลกดีทั้งสองซีกแล้ว ขณะเมื่อพวกที่ชอบสำราญกายกำลังปรนเปรอให้เหยื่อแก่ความหิวของเขาอย่างเต็มที่นั้น พวกที่ชอบสำราญใจกำลังเอาชนะความหิวของเขาได้ ด้วยการบังคับอินทรีย์จนมันดับสนิท สงบอยู่ภายใต้อำนาจของเขาเองพวกแรก เข้าใจเอาคุณภาพของการให้ "สิ่งสนองความอยาก" แก่ความหิวของเขาว่าเป็นความสำราญพวกหลัง เอาคุณภาพของการที่ยิ่งไม่ต้องให้สิ่งสนองความอยากเท่าใดยิ่งดี ว่าเป็นความสำราญพวกหนึ่ง ยิ่งแพ้ตัณหามากเท่าใดยิ่งดี อีกพวกหนึ่ง ยิ่งชนะมาก เท่าใด ยิ่งดี !พวกที่ชอบสำราญกาย ย่อมจะแพ้ตัณหาอยู่เองแล้ว โดยไม่รู้สึกตัว ทำเองและชักชวนลูกหลาน ให้หาความสำราญกายอย่างเดียว เพราะไม่รู้จักสิ่งอื่น นอกจากนั้น ครั้นได้เครื่องสำราญกายมา ใจก็ไม่สงบสุข เพราะมันยังอยากของแปลกของใหม่อยู่เสมอไป (ได้เพียงความสำราญชั่วแล่น เหมือนกินข้าว มื้อหนึ่ง ก็สงบหิวไปได้ชั่วมื้อหนึ่ง) เมื่อความหม่นหมองใจ เกิดขึ้น ก็คิดเอาว่าตนเป็นคนมีกรรมหรือโชคร้ายไม่เหมือนคนอื่นเขา เมื่อต้องเจ็บป่วยตามธรรมดาของสังขาร ก็น้อยใจโชคของตัว อย่างหาที่เปรียบมิได้ยิ่งเมื่อแสวงหาโชคโดยทางใดก็ไม่ได้เสียเลยแล้ว ก็เลยเห็นไปว่า ในโลกนี้ไม่มีความยุติธรรม มีแต่ความดุร้าย คนชนิดนี้ ในที่สุด ก็มอบตัวให้แก่ ธรรมชาติฝ่ายต่ำ ประกอบกรรมชนิดที่โลกไม่พึงปรารถนา ต่อสู้สิ่งที่เรียกว่า โชคชะตาไป แม้อย่างดีที่สุด คนพวกนี้ จะทำได้ก็เพียงแต่ เป็นผู้ทนระทมทุกข์ อยู่ด้วยการแช่งด่าโชคชะตาของตัวเองเท่านั้นในสโมสรหรือสมาคมของพวกที่แสวงความสำราญทางกาย ซึ่งกำลังร่าเริงกันอยู่นั้น พวกเทพยดาย่อมรู้ดีว่า เป็นการเล่นละครย้อมสีหน้าก็มี หลงทำไป ทั้งที่ตัวเองหลอกตัวเองให้เห็นว่าเก๋ ว่าสุข ก็มาก บางคนต้องร้องไห้และหัวเราะสลับกันทุกๆ วัน วันละหลายครั้ง จิตใจฟูขึ้น แล้วเหี่ยวห่อลง, ขึ้นๆ ลงๆ ตามที่กระเป๋าพองขึ้นหรือยุบลง หรือตามแต่จะได้เหยื่อที่ถูกปากและไม่ถูกปาก ใจของพวกนี้ยังเหลืออยู่นิดเดียวเสมอเท่าที่เขารู้สึก จึงทำให้เขาเข้าใจว่า ใจอยู่ในกายคือแล้วแต่กาย หรือสำคัญอยู่ที่กาย เพราะต้องต่อเมื่อ เขาได้รับความสำราญกายเต็มที่แล้วต่างหาก ใจของพวกเขา จึงเป็น อย่างที่เขา เรียกว่า "สุข"แม้คนพวกนี้จะพูดว่า ความสำราญใจ ! ความสำราญใจ !!" อยู่บ้าง ก็เป็นเพียง การหลงเอาความสำราญฝ่ายกายขึ้นมาแทนเท่านั้น จะสำราญใจได้อย่างไร ในเมื่อใจถูกทำให้พองขึ้น ยุบลงเสมอ ความพองขึ้น หรือยุบลงก็ตาม ย่อมเป็นสิ่งทรมานใจให้เหน็ดเหนื่อย เท่ากัน เพียงแต่เป็นรุปร่างที่ต่างกันเท่านั้นลาภ ยศ สรรเสริญ และความเพลิดเพลิน ทำให้พองเบ่ง เสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกสบประมาท และหาความเพลิดเพลินมิได้ ทำให้ยุบเหี่ยว แต่ทั้งสองอย่างทำความหวั่นไหว โยกโคลง ให้เท่ากันอย่างเด็ดขาด เมื่อเขาได้สมใจอยาก เขาก็ได้ความหวั่นไหว เมื่อไม่ได้ ก็ได้ความหวั่นไหว เมื่อมืดมนหนักเข้า ก็แน่ใจลงเสียว่า ความอร่อยหรือขณะที่อร่อย นั่นแหละเป็น "พระนิพพาน" ของชีวิตแต่เมื่อคิดดู เราพอจะเห็นได้ว่า นั่นยังไม่ได้ถอยห่างออกมาจากกองทุกข์แม้แต่นิดเดียว, มันเป็นเพียงความสำคัญผิดเท่านั้นและเป็นความสำคัญผิดที่จะมัดตรึงตัวเองให้ติดจมอยู่กับบ่อโคลนนั่นตลอดเวลาเมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จะเห็นได้สืบไปว่า การสำราญทางฝ่ายโลกหรือจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ฝ่ายกายหรือวัตถุนั้นคืออะไร และเมื่อได้ หมกมุ่นมัวแต่แสวงอาหารให้กายท่าเดียวแล้วจะเป็นอย่างไร หรืออีกอย่างหนึ่งว่า ถ้ารู้จักความสุขเฉพาะในด้านนี้ด้านเดียวแล้ว ก็จะรู้จักโลกเพียงซีกเดียว อย่างไร และยิ่งกว่านั้น คนที่รู้จักโลกเพียงซีกหนึ่งเช่นนี้ หาอาจทำอารมณ์เหล่านี้ ให้เป็นเครื่องอำนวยความสะดวก หรือความเพลินแก่เขาได้เช่นเดียวกับผู้ที่เข้าใจโลกดีทั้งสองซีกไม่ เพราะต้องตกเป็นทาสของความมัวเมารื้อไม่สร่าง บูชามันให้เป็น สิ่งสูงสุดกว่าสิ่งใดอยู่เสมอส่วนผู้ที่รู้จักโลกดีแล้วนั้น ย่อมบูชาความสำราญทางธรรม หรือฝ่ายใจอันแท้จริงเป็นส่วนสำคัญ และถือเอาส่วนกายหรือวัตถุ เป็นเพียงเครื่องอำนวยความสะดวกในฐานเป็นคนใช้ สำหรับรับใช้ ในการแสวงหาความสำราญ ทางฝ่ายจิตเท่านั้นพวกนี้จึงมีอุดมคติว่า"กายอยู่ในใจ" คือแล้วแต่ใจ กายเป็นของนิดเดียว, และอาศัยใจซึ่งมีอำนาจเด็ดขาดและคุณภาพสูงสุด อยู่ทุกๆประการและทุกๆเวลา "แสวงหาอาหาร ให้ดวงใจดีกว่า ! " ความเจริญงอกงามของดวงใจนั้น ยังไปได้ไกลอีกมากมายนักคือกว่าจะถึงพระนิพพานเมื่อไรนั่นแหละจึงจะหมดขีดของทางไปแล้ว มีอุดมสันติสุขอยู่ตลอดอนันตกาลส่วนความเจริญทางกายนั้น ไม่มีทางไปอีกต่อไป สูงสุดอยู่ได้เพียงแค่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และ อารมณ์ทางใจ บางอย่าง เช่น ยศศักดิ์เท่านั้น แต่ไม่มีใครเคยทำให้เกิด ความอิ่ม ความพอใจในเรื่องนี้เลย แม้ในอดีต, ในปัจจุบัน และ อนาคต. เพราะว่า การแสวงหาทางฝ่ายนี้ ต้องการ "ความไม่รู้จักพอ" นั่นเอง เป็นเชื้อเพลิงอันสำคัญแห่งความสำราญ ถ้าพอเสียเมื่อใด ก็หมดสนุก ! ใครจะขวนขวายอย่างไร ก็ไม่อาจได้ผลสูงไปกว่า "การสยบซบซึมอยู่ ท่ามกลางกองเพลิง แห่งความถูกปลุกเร้าของตัณหา" ซึ่งเมื่อใดม่อยหรี่ลง ก็จะต้องหาเชื้อเพลิงเพิ่มให้ใหม่อีก และไม่มีเวลาพอ เช่นเดียวกับไฟธรรมดา กับ เชื้อเพลิงธรรมดา เหมือนกันเพราะฉะนั้น การแสวงหาอาหารทางฝ่ายใจ เพื่อดวงใจ จึงเป็นสิ่งที่มีค่า น่าทำกว่า, เป็นศิลปะกว่า เป็นอุดมคติที่สูงกว่า, ทำยาก หรือ น่าสรรเสริญกว่า, หอมหวนกว่า เยือกเย็นกว่า ฯลฯ กว่าโดยทุกๆ ปริยาย.
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น