วันพฤหัสบดีที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2553

รู้จักวิธีคิด.....ชีวิตเป็นสุข....

พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนว่า การศึกษาที่แท้จริงจะเกิดขึ้นต่อเมื่อมนุษย์รู้จักคิด วิเคราะห์ วิจารณ์อย่างรอบคอบและรอบด้าน จึงจะทำให้เกิดปัญญาแตกฉาน เรียกว่า โยนิโสมนสิการ โดยวิธีการคิดแบบโยนิโสมนสิการมี 10 วิธีด้วยกัน คือ
1. วิธีคิดแบบคุณค่าแท้และคุณค่าเทียม : ไม่ติดในรูปร่างภายนอกของวัตถุ เมื่อจะอุปโภคบริโภคสิ่งใดก็จะคิดถึงประโยชน์ก่อน หรือเรียกได้ว่าเสพปัจจัยด้วยคุณค่าที่แท้จริง ทำให้ไม่ตกเป็นทาสของวัตถุ
2. วิธีคิดแบบคุณโทษและทางออก : เล็งเห็นว่าทุกสิ่งมีทั้งคุณและโทษ ต้องรู้จักแยกแยะว่าคุณและโทษอยู่ตรงไหน และทางเลือกที่ดีกว่าเป็นอย่างไร
3. วิธีคิดแบบอุบายปลุกเร้าคุณธรรม : คิดหาประโยชน์จากเรื่องต่างๆ จากทั้งแง่ดีและแง่เสียโดยพยายามถือเอาประโยชน์ให้ได้ เช่น เรื่องของความตาย ถ้าเราคิดถึงความตายแล้วเป็นเหตุให้ทำความดีได้ ก็ถือว่าเป็นการปลุกเร้าให้มีความพยายามในการทำความดี ถือว่าเป็นการคิดแบบปลุกเร้าคุณธรรม

4. วิธีคิดแบบอรรถสัมพันธ์ : เป็นการคิดแบบเชื่อมโยงหลักการกับความมุ่งหมาย อาทิ การกระทำบางอย่างไม่สำเร็จเพราะมิได้วางเป้าหมายให้ชัดเจน หรือบางครั้งเป้าหมายชัดเจนแต่การกระทำไม่สอดคล้องกันจึงไม่สำเร็จ เป็นต้น
5. วิธีคิดแบบอริยสัจ : เป็นการคิดแก้ปัญหาที่สาเหตุ การคิดแบบนี้คล้ายกับการคิดแบบวิทยาศาสตร์ คือ ต้องมีการตั้งปัญหา คิดสมมติฐาน รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อหาคำตอบของปัญหานั้นๆ
6. วิธีคิดแบบสืบสาวหาเหตุและปัจจัย : การคิดพิจารณาสืบค้นหาเหตุและปัจจัย ทำให้รู้ได้ว่าสิ่งที่ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเกิดจากสาเหตุใด และมีปัจจัยใดที่เกี่ยวข้องบ้าง
7. วิธีคิดแบบสามัญลักษณะ : วิธีคิดแบบนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วิธีคิดแบบรู้เท่าทันธรรมดา” นั่นคือรู้ว่าสิ่งต่างๆ มีเกิดขึ้น แปรเปลี่ยน และดับสลายไป เพื่อจะได้ไม่ยึดมั่นถือมั่นและไม่เป็นทุกข์จนเกินไป
8. วิธีคิดแบบเป็นอยู่ในปัจจุบัน : คือ มีสติสัมปชัญญะ รู้ตัวอยู่ตลอด เนื่องจากการคิดแบบไม่ยอมอยู่ในปัจจุบัน (การจมอยู่กับอดีตหรือคิดล่วงหน้าไปในอนาคต) จะทำให้เกิดวิตกกังวล หรือเกิดอันตรายได้ เช่น การขับรถ ถ้าขณะขับไม่มีสติอยู่กับตัว ก็อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้
9. วิธีคิดแบบแยกแยะองค์ประกอบ : เป็นการคิดแบบแยกย่อยเป็นส่วนๆ เพื่อหาความสอดคล้องสัมพันธ์กันเป็นองค์รวม การคิดแบบนี้จะช่วยให้สามารถแก้ปัญหาได้ดียิ่งขึ้น เพราะไม่มองแต่ภาพรวมแต่มองลึกลงไปถึงรายละเอียดด้วย
10. วิธีคิดแบบแยกแยะประเด็น : การคิดแบบแยกแยะประเด็นมีประโยชน์มากในการดำเนินชีวิตประจำวัน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรารู้จักแยกแยะหน้าที่ของตนเองก็จะทำให้เราประสบความสำเร็จในชีวิตได้เป็นอย่างดี เช่น ในฐานะที่เป็นนักเรียน ก็ควรที่จะตั้งใจศึกษาเล่าเรียน โดยแบ่งเวลาเรียนกับเวลาเล่นให้เป็น เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น