วันอาทิตย์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2553

DAM : เทคโนโลยีเพื่อความปลอดภัยเขื่อน


บ่อยครั้ง...เมื่อ ถึงหน้าน้ำหลากหรือมีเหตุการณ์แผ่นดินไหว กระแส ข่าวลือเขื่อนแตก มักสร้างความ กังวลใจให้กับบรรดาผู้อยู่อาศัยใกล้เคียง

เพื่อสร้างความมั่นใจในระบบรักษาความปลอดภัยของเขื่อน เทคโนโลยีระบบการสื่อสารรวมถึงการจัดเก็บข้อมูลต่าง ๆ จึงถือเป็นเรื่องสำคัญ

ล่าสุด...เนคเทคหรือ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยหรือ กฟผ. จัดนำเสนอและสาธิตผลงานวิจัย “DAM” ระบบการสื่อสารและจัดเก็บข้อมูลชุดตรวจวัดแรงดันน้ำของเขื่อนรัชช ประภา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้กับตัวแทนจากประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียน เพื่อแสดงถึงศักยภาพของการประเมินถึงความปลอดภัย และมั่นคงของเขื่อน

และที่สำคัญเป็นผลงานของนักวิจัยไทย ที่ประหยัดงบประมาณและช่วยลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ

“ดร.กนกเวทย์ ตั้งพิมลรัตน์” ผู้อำนวยการหน่วยปฏิการวิจัยพัฒนาการ ควบคุมและระบบอัตโน มัติทางอุตสาหกรรม เนคเทค บอกว่า เนื่องจากทาง กฟผ. มีความต้องการจะติดตั้งระบบอัตโน มัติ เพื่อช่วยดูแลความปลอดภัยและความมั่นคงของเขื่อนรัชชประภา หรือเขื่อนเชี่ยวหลาน โดยอาศัยการวัดค่าต่าง ๆ ในบริเวณเขื่อน เช่น การวัดระดับน้ำใต้ดิน ในหลุม วัด การวัดแรงดันของหัววัดที่ติดตั้งที่ตัวเขื่อน การคาดเดาปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำ

ที่ผ่านมา กฟผ.ใช้บุคลากรทำการวัดค่าต่าง ๆ ด้วยมือ ซึ่งใช้เวลามาก ข้อมูลที่ได้ไม่ใช่ข้อมูล ณ เวลาจริง รวมถึงเสียเวลาในการป้อนข้อมูลเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อทำการวิเคราะห์ ทำให้มีข้อจำกัดในการประเมินถึงความมั่นคงและความปลอดภัยของเขื่อน


ระบบดังกล่าว หากนำเข้าจากต่างประเทศ ดังเช่นที่นำมาใช้ที่เขื่อนวชิราลงกรณ หรือเขื่อนเขาแหลม จะมีราคาสูงถึง 60 ล้านบาท นอกจากนั้นหลังจากใช้มาแล้ว 10 ปี ปัจจุบันอุปกรณ์บางส่วนเริ่มชำรุด ค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงหรือปรับปรุงแก้ไขนั้นก็สูงร่วม 10 ล้านบาททีเดียว

เนคเทคโดยหน่วยปฏิบัติการวิจัยพัฒนา การควบคุมและระบบอัตโนมัติทางอุตสาหกรรม จึงพัฒนาระบบสื่อสารและจัดเก็บข้อมูลชุดตรวจวัดแรงดันน้ำของเขื่อนหรือแดม (DAM) ขึ้นมา โดยต่อยอดพัฒนาจากองค์ความรู้ด้านการสื่อสารที่มีอยู่ ซึ่งเรียกว่าสกาด้า (SCADA) โดยพื้นฐานตัวระบบดังกล่าวจะ ประกอบไปด้วย หน่วยวัดคุมระยะไกลหรือเรียกสั้น ๆ ว่า RTU เซ็นเซอร์หรือหัววัดค่าต่าง ๆ เครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่ายหรือเซิร์ฟเวอร์ และระบบการสื่อสารซึ่งมีทั้งแบบไร้สายคือ ผ่านระบบจีพี อาร์เอสของมือถือและแบบใช้สายคือผ่านเทคโนโลยีไฟเบอร์ ออพติค
ด้าน ดร.อุดม ลิ่วลมไพศาล นักวิจัยผู้รับผิดชอบโครงการอธิบาย ถึงการทำงานของระบบดังกล่าวว่า ระบบรักษาความปลอดภัยของเขื่อนเดิมในระบบแมนนวลหรือใช้คนวัด จะมีหลุมวัด ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4 นิ้วจำนวนมาก ซึ่งมีความลึกกว่า 100 เมตร ใช้เครื่องมือแบบการวัดค่าความสูงของระดับน้ำ เมื่อเปลี่ยนเป็นระบบอัตโนมัติ ได้ใช้เป็นหัววัดเซ็นเซอร์ แทน โดยแช่ทิ้งไว้ที่ก้นหลุม ส่งข้อมูลผ่านสายทองแดงไปยัง RTU ที่ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลก่อนที่จะส่งไปยังเซิร์ฟเวอร์ โดยผ่าน สายไฟเบอร์ ออพติคเป็นหลัก ส่วนจีพีอาร์เอส ใช้เฉพาะจุดที่อยู่ห่างไกล ทั้งนี้ RTU แต่ละตัว สามารถรับข้อมูลจากเซ็นเซอร์ได้ 1-2 หลุม ข้อมูลที่ได้จะนำส่งไปยังระบบวิเคราะห์ความปลอดภัย และมั่นคงของเขื่อนต่อไป สามารถติดตามดูข้อมูลได้แบบเรียล ไทม์และทำรายงานสรุปเป็นภาษาไทยได้

ปัจจุบัน เนคเทคติดตั้งระบบดังกล่าวไปแล้ว 12 ตู้ RTU ครอบคลุมการสื่อสารข้อมูลจาก 19 หลุมที่มีตัววัดหรือเซ็นเซอร์ ใช้งบประมาณไปแล้ว 9.9 ล้านบาท เริ่มใช้งานอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี 2551
สำหรับผลการใช้งาน นายมะโนช มากจันทร์ หัวหน้ากองบำรุงรักษาโยธา เขื่อน รัชชประภา บอกว่า เนื่องจากเขื่อนนี้เป็นเขื่อนหินทิ้งแกนดินเหนียว มีลักษณะพิเศษ ตามภูมิประเทศที่สวยงาม จึงมีการก่อสร้างเป็นเขื่อนหลัก เขื่อนรองและเขื่อนย่อย ๆ ตามหุบเขาอีกจำนวนมาก ระยะทางกว่า 7 กิโลเมตร เดิมเมื่อใช้การเก็บข้อมูลด้วยคนต้องเสียเวลาไม่ต่ำกว่า 2 วันในการเก็บแต่ละครั้ง ข้อมูลที่ได้จึงไม่เรียลไทม์ ระบบนี้เข้ามาช่วยได้มาก ซึ่งทาง กฟผ. มีแผนติดตั้งเพิ่มเติม โดยภายในปี 2555 จะทำการติดตั้งตู้ RTU จนครบ 27 หลุมเซ็นเซอร์รอบตัวเขื่อนหลักและเขื่อนรอง

นอกจากนี้ ยังมีโครงการต่อเนื่องให้เนคเทค พัฒนาและปรับปรุงระบบอัตโนมัติให้กับเขื่อนวชิรา ลงกรณอีกด้วย

เจ้าหน้าที่ที่ดูแลเขื่อน ย้ำความมั่นใจถึงความปลอดภัยของตัวเขื่อน เพราะนอกจากเขื่อนนี้จะไม่ได้รับผลกระทบจากปรากฏ การณ์แผ่นดินไหว และมีเทคโนโลยีมาช่วยในการตรวจสอบแล้ว เขื่อนรัชชประภา ซึ่งใช้งานมาเกือบ 30 ปี กว่าจะหมดอายุการใช้งาน ยังต้องใช้เวลาชั่วลูกชั่วหลาน นานถึง 5,400 ปีทีเดียว!!!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น