วันจันทร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2553

หวั่น 5-10 ปีเมืองไทยขาดน้ำกินน้ำใช้ ลุ้นปัดฝุ่น เขื่อนแก่งเสือเต้น แก้วิกฤติ


จากภาวะสถานการณ์ภัยแล้งที่นับวันจะสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนมากขึ้น ทุกขณะ ผนวกกับความต้องการใช้ทรัพยากรน้ำเพิ่มปริมาณสูง จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการแสวงหาแหล่งเก็บกักน้ำใหม่ให้เพียงพอต่อการใช้ อุปโภคบริโภค

จากการประชุมเรื่องบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยมี พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน หารือร่วมกับ นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ และนายชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทาน ได้ข้อสรุปตรงกันว่า ในอนาคตประเทศไทยทั้งพืชอาหารและพืชพลังงานส่อเค้าขาดแคลนน้ำมากถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ในระยะ 5-10 ปีข้างหน้า อาจขาดแคลนน้ำเข้าขั้นวิกฤติ จึงมีความจำเป็นในการหาแหล่งกักเก็บน้ำเพิ่มขึ้น ด้วยการสร้างเขื่อนขยายใหญ่มารองรับ เช่น เขื่อนแก่งเสือเต้น จ.แพร่ เขื่อนแม่วงศ์ จ.นครสวรรค์ เขื่อนลำชีบน จ.ชัยภูมิ เขื่อนโปร่งขุนเพชร จ.ชัยภูมิ ทั้งหมดสามารถกักเก็บน้ำได้เกือบ 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตร

แน่นอนว่าการสร้างเขื่อนหลาย ๆ แห่งล้วนเป็นโครงการในระยะยาว โดยเฉพาะกรณี “เขื่อนแก่งเสือเต้น” นั้นเป็นเผือกร้อนให้หลาย ๆ รัฐบาลมาแล้ว หากคิดจะเดินหน้าโครงการนี้จริง รัฐบาลก็คงต้องเหนื่อยหนัก เพราะต้องฝ่าด่าน “คัดค้าน” จากชาวบ้านในพื้นที่และกลุ่มอนุรักษ์ที่จะออกมาเคลื่อนไหวในทันที หากมีการพิจารณาสร้างเขื่อนแห่งนี้ทุกครั้ง

จากข้อมูลของกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการศึกษาและพิจารณาโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นมานานแล้ว โดยเริ่มจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สำรวจโครงการลุ่มน้ำปิง-ยม-น่าน ตั้งแต่ช่วงเดือน ก.ย. 23 และทำการทบทวนแผนงานก่อนส่งมอบให้กรมชลประทานในเดือน ธ.ค. 28 คณะรัฐมนตรีมีมติให้ศึกษาข้อดี-ข้อเสียและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้วเสร็จใน เดือน พ.ค. 32 ก่อนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เสนอผลการศึกษาผลกระทบในการสร้างเขื่อนในเดือน เม.ย. 34 และกรมชลประทานได้ส่งแผนโครงการให้รัฐบาล พิจารณาอีกครั้งในเดือน ก.ค. 37

คณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมมีมติให้ ตั้งอนุกรรมการเฉพาะกิจเดือน ก.ย. 38 และ มีการจ้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยศึกษาด้านระบบนิเวศเพิ่มเติมในเดือน มี.ค. 39 และเดือน พ.ค. ปีเดียวกัน กรมทรัพยากรธรณีจ้างบริษัทเอกชนศึกษากรณีแผ่นดินไหว เพื่อประกอบการพิจารณาโครงการหากเกิดกรณีภัยพิบัติขึ้นจริง ๆ

จากนั้นขั้นตอนงานศึกษาและพิจารณาโครงการแก่งเสือเต้นก็ทำท่าจะเป็นรูปธรรม มากขึ้น โดย จ.แพร่ ว่าจ้างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศึกษาการอพยพและตั้งถิ่นฐานใหม่ของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสร้าง เขื่อนแก่งเสือเต้นในเดือน ก.ย. 39 ท่ามกลางกระแสคัดค้านของกลุ่มอนุรักษ์และประชาชน ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวมีการจ้างมหาวิทยาลัยมหิดลทำการศึกษาด้านสาธารณสุข อีกด้วย

ต่อมามติคณะรัฐมนตรีวันที่ 19 พ.ย. 39 ให้กรมชลประทานออกแบบและก่อสร้างโครงการแก่งเสือเต้น แต่ก็ต้องล้มไม่เป็นท่า เมื่อโดนต่อต้านอย่างหนัก จนคณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 40 เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในโครงการ

กระทั่งคณะกรรมาธิการวิสามัญสภา ผู้แทนราษฎรมีมติสนับสนุนให้ก่อสร้างเขื่อน กระทั่งวันที่ 24 มี.ค. 41 คณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณให้กรมชลประทานจ้างผู้เชี่ยวชาญศึกษาและทบทวน โครงการใหม่ จากนั้นไม่นานโครงการนี้ก็ต้องพับเก็บไป ไม่ว่ารัฐบาลใดที่หยิบยกโครงการนี้ปัดฝุ่นขึ้นมาใหม่ มักอยู่ไม่ได้นาน เพราะถูกต่อต้านและประจาน จนกลายเป็นตำนานอาถรรพณ์ของเขื่อนแก่งเสือเต้นไปแล้ว

แต่ถ้าหากมองลึก ๆ แล้วระหว่างข้อดี-ข้อเสียของโครงการนี้ ถ้าการดำเนินงานโปร่งใสตรวจสอบได้ชัดเจนทุกขั้นตอน มองในแง่ดีว่าโครงการนี้มีประโยชน์มากในแง่ของการกักเก็บน้ำและแก้ปัญหาน้ำ ท่วมพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างอย่างเป็นรูปธรรม ย่อมดีกว่าปล่อยให้น้ำฝน น้ำป่าที่ไหลหลากตามฤดูกาลสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน และสุดท้ายก็ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาไหลออกทะเล ปริมาณน้ำมหาศาล เหล่านี้หากเก็บเพื่อไว้ใช้หน้าแล้งจะมีประโยชน์ต่อการเกษตร การเพาะปลูกพืชผลผลิตและอื่น ๆ อีกมากมาย


หากมองในข้อเสียก็มีเช่นกัน กรณีผลกระทบระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญคือ ป่าไม้ อันเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ต้องอนุรักษ์จะต้องถูกตัดโค่นทำลายลงไปจำนวนมาก รวมทั้งวิถีชีวิตชาวบ้านในพื้นที่ก็ต้องเปลี่ยนไปและย้ายแหล่งที่อยู่ใหม่ แม้รัฐบาลมีแผนรองรับในการจัดสรรที่ดินทำกินใหม่ให้แล้วก็ตาม แต่ส่วนใหญ่ไม่อยากจากแผ่นดินเกิดไปง่าย ๆ

ทั้งนี้วัตถุประสงค์ของโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น ก็เพื่อบริหารจัดการน้ำโดยกักเก็บปริมาณน้ำในลุ่มน้ำยมตอนบน ซึ่งมีปริมาณมากในช่วงฤดูฝน ไว้ใช้ในฤดูแล้ง เพื่อการเพาะปลูก และอุปโภค-บริโภค รวมทั้งการบรรเทาอุทกภัยในเขตพื้นที่ จ.แพร่ จ.สุโขทัย จ.พิษณุโลก และ จ.พิจิตร ที่เกิดขึ้นเป็นประจำเกือบทุกปี

เขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นโครงการก่อสร้างในลำน้ำยมที่พิกัดเส้นรุ้ง 18038’ เหนือ และเส้นแวง 100010’ ตะวันออก เหนือจุดบรรจบแม่น้ำยมและแม่น้ำงาวไปทางเหนือประมาณ 7 กิโลเมตรในเขต อ.สอง จ.แพร่ ห่างจากตัวเมืองแพร่ไปทางเหนือประมาณ 50 กิโลเมตร

พื้นที่รับน้ำฝนที่ตำแหน่ง ณ ที่ตั้งเขื่อนกินอาณาเขต 3,583.0 ตารางกิโลเมตร ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่าง เฉลี่ยรายปี (37 ปี) ประมาณ 931.7 ล้านลูกบาศก์เมตร หากปริมาณฝนตกเฉลี่ยรายปี (10 สถานี) ประมาณ 1,201.2 มิลลิเมตร และมีปริมาณน้ำนองสูงสุดที่อาจเป็นไปได้ (PMF) เฉลี่ย 8,571.2 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

หากการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นเป็นผลสำเร็จ พื้นที่ได้ประโยชน์ด้านการป้องกันอุทกภัย ได้แก่ บริเวณริมแม่น้ำยม ในเขต อ.สอง อ.เมือง อ.เด่นชัย จ.แพร่ จ.สุโขทัย อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก อ.สามง่าม อ.โพธิ์ทะเล อ.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์

หากรัฐบาลนี้ปัดฝุ่นโครงการสร้าง “เขื่อนแก่งเสือเต้น” ขึ้นมา หากทำได้สำเร็จก็เป็นเรื่องที่น่าดีใจ เพราะเป็นทางเลือกใหม่แก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมในอนาคต แต่ถ้าถูกต่อต้านหนักหน่วงจนต้องพับไปอีกก็ช่วยไม่ได้ เพราะอาถรรพณ์แก่งเสือเต้นนี้เฮี้ยนจริง ๆ เสียด้วย.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น