โดย สำราญ รอดเพชร
“คนไม่ได้ทำชั่วเพราะคิดว่านั่นเป็นความชั่ว หากแต่เพราะคิดว่านั่นจะทำให้เขาได้ประโยชน์..”
แมรี วอลล์สโตนคราฟท์/นักคิดนักเขียนชาวอังกฤษ (2302 -2340).
-1-
เพิ่งจะออกมาจากความครุ่นคิดคำนึงจากการเข้าไปดูคลิปการอ่านบทกวีของหนุ่ม นราธิวาส “ซะการีย์ยา อมตยา” กวีซีไรต์คนล่าสุดจากบทกวีรวมเล่มชื่อ “หญิงสาวในบทกวี” อุ๊ย! ไม่ใช่ “บทกวีในหญิงสาว” ไม่ใช่อยู่ดี “ในหญิงสาวบทกวี” ก็ยิ่งไม่ใช่ ต้อง “ในบทกวีหญิงสาว” อ้าว! ไม่ใช่อีก งั้นต้อง “กวีบทในหญิงสาว”...ว้า! นี่ก็ไม่ใช่...
เขาตอกแป้นพิมพ์พ่อ
หญิงสาวในความคิด
ความคิดในหญิงสาว
บทกวียังไม่จบ
แต่เขาเห็นหญิงสาวแล้ว!
……………….
ยอมรับว่ากวีไรต์ฉันทลักษณ์หรือกลอนเปล่าของคุณน้อง “ซะการีย์ยา อมตยา” ชุด “ไม่มีหญิงสาวในบทกวี” บาง ชิ้นบางบทโดนใจอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน ขอแสดงความยินดีกับรางวัลซีไรต์ที่ได้รับ ส่วนอีก 4 กวีนิพนธ์ที่เข้ารอบก็ดีๆ ทั้งนั้น มันแล้วแต่ว่ากรรมการปีไหนจะมุ่งเน้นหรือมีฉันทามติร่วมกันอย่างไร...
นี่ถ้าลองให้โหวตกันดูว่า ตั้งแต่มีกวีซีไรต์มา เล่มไหนที่คุณชอบที่สุด กรรมการหรือพวกเราเองก็คงโหวตไปคนละทาง อย่างผมก็ต้องโหวตให้ “เพียงความเคลื่อนไหว” ของคุณพี่เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์...
คิดไปคิดมาก็แอบบอกตัวเองว่าถ้า 20 กว่าปีที่ผ่านมาเอ็งไม่วางปากกายัง เดินหน้าเขียนกวีนิพนธ์ป่านนี้อาจแซงคิว “ไม่มีหญิงสาวในบทกวี” ไปแล้วก็ได้ ไม่ต้องกลายเป็นกวีซีฟู้ดอย่างทุกวันนี้...
ดังนั้น ใครที่คิดการใดจะทำการใดให้สำเร็จก็ต้องมุ่งมั่น และดำรงเป้าหมาย อย่าได้เปลี่ยนเส้นทางกันบ่อยๆ แม้สุดท้ายอาจจะไม่ได้รับรางวัลทางสังคม แต่ความสำเร็จจะเป็นรางวัลที่เราได้มอบให้กับชีวิตเราหรือแม้กระทั่ง สังคม...
-2-
อ่านบทกวีของ “ซะการีย์ยา อมตยา” และคนอื่นๆ แล้วก็นั่งขบคิด เล่นกับความคิดของตัวเองหลายเรื่อง รวมทั้งคำคมคารมปราชญ์
“คนไม่ได้ทำชั่วเพราะคิดว่านั่นเป็นความชั่ว หากแต่เพราะคิดว่านั่นจะทำให้เขาได้ประโยชน์” ที่หยิบยกมาตอนต้น
เบื้องต้นก็ถามว่าคำกล่าวดังกล่าวถูกต้องหรือไม่....เริ่มจากตัวเอง ถามว่าเคยทำชั่วไหม บอกตรงๆ ผมไม่อยากยอมรับแม้สักนิดเดียวว่าผมเคยทำความชั่ว แต่ถามว่าเคยทำผิดไหม ตอบว่ามี...ถามว่าเคยทำผิดศีล 5 ไหม ตอบว่าบ่อย โดยเฉพาะข้อ 1 ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต และข้อ 5 สุราเมรัย...ถ้าทำผิดศีล 5 แล้วเป็นการทำชั่ว ผมก็ต้องยอมรับ ถ้าเอาความคิดของ “แมรี วอลล์สโตนคราฟท์” เข้ามาจับก็อาจจะถูกตรงที่ว่าขณะเราทำผิดศีล 5เราไม่ได้รู้สึกว่าเราทำชั่ว แต่ก็ไม่ได้คิดว่าเราจะได้ประโยชน์จากการทำความชั่วดังกล่าว..เอ๊ะ! หรือว่าจริงๆ แล้วเราได้ประโยชน์.!?
หยิบยกปรัชญาของ “แมรี วอลล์สโตนคราฟท์” มา หาใช่เพราะผมได้ศึกษาปรัชญาความคิดของนักเขียนนักสู้สตรีท่านนี้มาอย่างลึก ซึ้งอะไรหรอก บังเอิญได้อ่านงานเขียน งานบรรยายชุด “คุณธรรม จริยธรรมของผู้นำ” ของ อ.วิทยากร เชียงกูล ที่ หยิบยกชื่อเธอขึ้นมา พอเข้าไปค้นคว้าดูจึงรู้ว่าเธอเป็นนักสู้นักปรัชญาสายเฟมินิสม์ ที่เรียกร้องสิทธิสตรีคนแรกๆ ของโลกหรือเมื่อ 200 กว่าปีมาแล้ว...
เธอนี่แหละที่ควรจะเป็น “หญิงสาวในบทกวี” คนหนึ่งคนสำคัญ ที่โลกจะต้องจดจารึก...
-3-
ต่อเนื่องจาก “คนไม่ได้ทำชั่ว เพราะคิดว่านั่นเป็นความชั่ว หากแต่เพราะคิดว่านั่นจะทำให้เขาได้ประโยชน์” อ.วิทยากร เชียงกูล บอกว่า ดังนั้นสังคมต้องปฏิรูปให้คนเข้าใจประโยชน์ของความดีโดยตัวของมันเอง คือทำดีแล้วตัวเราและลูกหลานได้ประโยชน์ร่วมกันด้วย
แล้ว อ.วิทยากรก็ยกตัวอย่างไปไกลถึงการปราบคอร์รัปชันของประเทศสิงคโปร์ “เนื่องจากสิงคโปร์เป็นเกาะเล็กๆ ไม่มีทรัพยากร ประชากรต้องมีเรื่องค้าขาย การขายบริการต่างๆ ท่าเรือ, ศูนย์การกระจายสินค้า ศูนย์กลางการเงินในภูมิภาค ความโปร่งใสเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้ทุกคนในชาติอยู่รอด ต้องร่วมมือกันปราบคอร์รัปชันเอาจริงเอาจัง ทำให้เป็นเรื่องเสี่ยงต้นทุนสูง การทำงานซื่อตรงมีโอกาสได้ประโยชน์ร่ำรวยอย่างปลอดภัยมากกว่า....”
ถ้าเราไม่คิดจุกจิกหรือละเอียดยิบจนเกินไป ผมว่าปรัชญาวาทะของ “แมรี วอลล์สโตนคราฟท์” มองมนุษย์อย่างเข้าใจและเป็นไปในแง่บวก คล้ายๆ กับที่เราๆ ท่านๆ จะได้ยินว่า มนุษย์เกิดมาเหมือนผ้าสีขาว แต่ต่อมาสภาพแวดล้อมสภาพสังคมทำให้ผ้าขาวเปลี่ยนสี...
แต่อย่างไรก็ตาม ผมไม่แน่ใจจริงๆ ว่า หากนำปรัชญาวาทะดังกล่าวมาใช้กับนักการเมืองไทย ข้าราชการ ตลอดจนนักธุรกิจของไทยในยามนี้ พ.ศ.นี้จะถูกต้องหรือไม่ เพราะการทำชั่วต่อบ้านเมืองโดยการทุจริตโกงกินนั้น หลายต่อหลายโครงการ นักการเมืองชั่ว ข้าราชการเลว พ่อค้าขี้โกง มันสมคบคิดกันทำชั่วอย่างไม่มียางอาย ทั้งๆที่รู้ทั้งรู้ว่านั่นคือความชั่ว...
หรือการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการครั้งแล้วครั้งเล่า นักการเมืองบางเผ่าพันธุ์มันก็รู้ว่าไม่มีความชอบธรรม ขาดคุณธรรมจริยธรรม แต่กูจะเอาเสียอย่าง เพราะกูจะเอามัน (ข้าราชการ) มาทำชั่วให้กูได้รับผลประโยชน์ต่อไปในอนาคต...
หรือปัญหาต่างๆ ในบ้านเมืองของเราทุกวันนี้เราจะพบว่า..คนจำนวนมากตั้งใจจะทำความผิด ทำความชั่ว ด้วยความเชื่อว่าทำความชั่วแล้วจะได้รับประโยชน์ ทำความดีนั่นไม่แน่เสมอไปว่าจะได้ดี ได้ประโยชน์ตอบแทน
ถ้า “แมรี วอลล์สโตนคราฟท์” ฟื้นชีวิตขึ้นมาได้ในพ.ศ.นี้ เธออาจต้องเปลี่ยนปรัชญาวาทะของเธอใหม่แล้วมอบให้กับเมืองไทยของเราเป็นการ เฉพาะ จาก “คนไม่ได้ทำชั่วเพราะคิดว่านั่นเป็นความชั่ว หากแต่เพราะคิดว่านั่นจะทำให้เขาได้ประโยชน์..” เป็นว่า.....
ท่านผู้อ่านช่วยคิดแทนเธอ ช่วยคิดแทนผมที่จะต้องคิดแทนเธอด้วยเถิด...!!
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น