วันอังคารที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553
รู้แล้วไม่ยึดติด
เวลาที่เรายึดติดอยู่กับสิ่งต่าง ๆ ใจจะมีความห่วง มีความกังวลคอยคิดอยู่เรื่อยว่า สิ่งต่าง ๆ ที่เรารัก ที่เราชอบ ยังอยู่กับเราหรือเปล่าแล้วจะอยู่กับเราไปได้นานสักแค่ไหน เรื่องเหล่านี้นั้นล้วนเป็นการสร้างความเครียดให้กับใจ สร้างความวิตก สร้างความกังวล ทำให้ใจไม่สงบไม่นิ่งเพราะความหลงนั่นเอง แต่ถ้าได้ลองมาปฏิบัติธรรมแล้ว ใจจะเริ่มก้าวเข้าสู่ความสงบ จะเริ่มเห็นความสุขที่เกิดจากความสงบของใจแล้วจะเข้าใจเห็นโทษของการไปหลง ไปยึด ไปติดกับสิ่งต่าง ๆ ภายนอกเพราะล้วนเป็นโทษทั้งสิ้น ล้วนเป็นทุกข์ทั้งสิ้น ไม่มีอะไรที่เป็นความสุขที่แท้จริง เราอาจจะมีความสุขในขณะที่ได้สัมผัส ได้อยู่ได้ใกล้ชิดสิ่งเหล่านั้น แต่เราหารู้ไม่ว่าสิ่งเหล่านั้น ไม่สามารถที่จะอยู่ใกล้ชิดกับเราไปได้ตลอดเพราะโดยธรรมชาติของตัวเราเองก็ดี หรือของสิ่งต่าง ๆ ก็ดี ล้วนเป็นของไม่เที่ยง คือมีอายุขัย ไม่อยู่ไปตลอด ชีวิตเราอยู่ไปได้ไม่กี่ปีก็ต้องจากทุกสิ่งทุกอย่างไป ถ้าเขาไม่จากเราไปก่อน เราก็จากเขาไปก่อน นี่เป็นสัจธรรมความจริง เมื่อเป็นเช่นนั้น เวลาเกิดการพลัดพรากจากกัน ก็จะต้องร้องห่มร้องไห้ เศร้าโศกเสียใจ กินไม่ได้ นอนไม่หลับ แต่ถ้าได้ฝึกจิต ปฏิบัติจิตให้ปล่อยวาง ให้มีความพอใจกับความสุขที่เกิดจากความสงบแล้ว ก็จะไม่ยึดติดกับอะไร เวลาไม่ยึดไม่ติดกับอะไรแล้ว เวลาสิ่งต่าง ๆ จากเราไปก็จะไม่รู้สึกเศร้าโศกเสียใจอาลัยอาวรณ์ เพราะรู้ด้วยปัญญาแล้วว่า เราไม่สามารถอยู่กับสิ่งต่าง ๆไปได้ตลอดหรือสิ่งต่าง ๆ ไม่สามารถอยู่กับเราไปได้ตลอด ไม่ช้าก็เร็ว ก็ต้องจากกันไป ถ้ามีปัญญา ก็จะไม่ยึดไม่ติด การจากกันก็จะเป็นการจากกันแบบธรรมดา จากกันแบบสบาย ๆ ไม่มีความเศร้าโศกเสียใจ ไม่มีการกินไม่ได้นอนไม่หลับ เหมือนกับเวลาที่พระอาทิตย์ได้ตกลับขอบฟ้าไป เราก็ไม่ได้มานั่งร้องห่มร้องไห้เศร้าโศกเสียใจอะไร เพราะเราเข้าใจถึงธรรมชาติของพระอาทิตย์ว่าจะต้องเป็นเช่นนั้น ฉันใด ถ้าได้ศึกษาพระธรรมคำสอน แล้วนำมาคิดใคร่ครวญอยู่อย่างสม่ำเสมอ แล้วนำมาปฏิบัติกับใจแล้ว เราก็จะสามารถทำใจให้ปล่อยวางได้ เมื่อปล่อยวางแล้ว ใจก็จะไม่เดือดร้อนกับอะไร ที่จะต้องจากเราไป แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะไม่ต้องมีอะไรเลย เราอยากจะมีอะไรก็มีได้ อย่างในขณะนี้ เรามีอะไร ก็มีอยู่เหมือนเดิม เพียงแต่ว่าทัศนคติ ปัญญาความรู้ของเราได้เปลี่ยนไป เมื่อก่อนนี้เรารู้แบบหลง รู้แบบยึด รู้แบบติด คือ อยากให้สิ่งต่าง ๆ ที่เรารัก ให้อยู่กับเราไปตลอดแต่เดี๋ยวนี้เราเข้าใจแล้วว่า ความรู้แบบนั้นเป็นเหตุที่ทำให้เกิดความเศร้าโศกเสียใจ เป็นความทุกอย่างยิ่ง เมื่อเราเปลี่ยนทัศนคติแล้วเราก็ยังอยู่กับสิ่งนั้นอยู่ เรายังปฏิบัติกับสิ่งนั้นอยู่เหมือนเดิม คือยังมีความเมตตา มีความกรุณา มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีการดูแลรักษากันไปตามปรกติ ตามกำลังสติปัญญาความสามารถของเรา จนกว่าเมื่อถึงเวลาที่จะต้องจากกันไป เราก็ยอมรับความจริงนี้ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ใจของเราก็จะไม่เศร้าโศกเสียใจกับอะไร นี่แหละอานิสงส์ของการได้พบพระพุทธศาสนา ได้ยินได้ฟังเรื่องราวที่แท้จริงของชีวิตนั่นเองเมื่อก่อนนี้ถ้ายังไม่ได้พบพระพุทธศาสนาเราจะไม่รู้เรื่องเหล่านี้ เราจะหลงยึดติดกับสิ่งต่าง ๆ สิ่งที่เรารัก ที่เราชอบเราก็จะหวง เราก็จะห่วง แต่เดี๋ยวนี้เมื่อได้ศึกษา ได้ยินได้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ก็เริ่มเห็นแล้วว่า ความทุกข์ไม่ได้เกิดจากใครที่ไหน เกิดจากความหลงผิด ความเห็นผิดเป็นชอบ ความไม่รู้ความเป็นจริงที่ไหน เกิดจากความหลงผิด ความเห็นผิดเป็นชอบ ความไม่รู้ความเป็นจริงของธรรมชาติของสิ่งต่าง ๆ ที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยนั่นเอง แต่ถ้ารู้แล้วเราก็จะไม่ทุกข์กับสิ่งนั้นอีกต่อไป เพราะเราจะเตรียมตัวเตรียมใจไว้รับกับสภาพที่จะต้องเกิดขึ้น คือไม่ช้าก็เร็วก็ต้องมีการพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา นี่แหละคือปัญญาทางพระพุทธศาสนา คือการรู้ถึงความไม่เที่ยงของทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ เมื่อรู้แล้วจะได้ไม่ไปยึดไปติด เราจึงต้องพยายามศึกษาหาความรู้นี้อย่างสม่ำเสมอ พระพุทธเจ้าจึงต้องสอนให้เราเข้าวัดกัน อย่างน้อยอาทิตย์ละหนึ่งครั้ง ฟังเทศน์ฟังธรรมกัน ฟังแล้วก็นำเอาไปคิดพิจารณาต่อ หลังจากที่ออกจากวัดไปเพราะถ้าไม่นำไปคิดพิจารณาต่อ เวลาไปทำกิจการงานต่าง ๆ ใจก็จะไปอยู่กับเรื่องราวต่างๆ ทำให้เรื่องราวที่ได้ยินได้ฟังในขณะที่อยู่ในศาลาก็จะค่อย ๆ จางไปหายไป และในที่สุดก็จะลืมไป เราจึงต้องกลับมาฟังอยู่เรื่อย ๆ นอกจากการฟังอยู่เรื่อย ๆ แล้ว เรายังต้องนำสิ่งที่ได้ยินได้ฟังไปคิดต่อ ไปเตือนสติไว้ ไม่ใช่ฟังแล้วก็แล้วกันไป เมื่อออกจากวัดไปแล้วเวลาเห็นสิ่งใดก็ตาม ถ้าเกิดความยินดี เกิดความชอบอยากจะได้ก็ควรสอนใจว่า สิ่งที่จะเอามานี้ ก็จะไม่อยู่กับเราไปตลอดนะ เอามาก็เอามาได้แต่เวลาได้มาก็ดีใจหรอก แต่เวลาเสียไป ยังจะดีใจเหมือนกับขณะที่ได้มาหรือเปล่า ถ้าเสียไปแล้ว ก็จะต้องเกิดความเศร้าโศกเสียใจ ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ ก็อย่าไปเอามาไม่ดีกว่าหรือ อย่างนี้เป็นต้น ต้องคิดแบบนี้ในการใช้ชีวิตประจำวัน ขอให้เราอย่าลืม ขอให้มองทุกสิ่งทุกอย่างว่าเป็นของชั่วคราว ไม่ใช่เป็นของที่จะอยู่กับเราไปอย่างถาวร นี่ก็คือการสร้างปัญญาให้เกิดขึ้น ธรรมที่ได้ยินได้ฟังแล้วเราก็เอามาคิด เอามาใช้ในชีวิตประจำวัน แล้วถ้ามีโอกาสว่าง ไม่มีภารกิจการงาน ก็ให้มาทำความสงบกับจิตใจของเรา เพราะว่าเวลาที่จิตสงบ ใจจะเย็น ใจจะมีความสุข แล้วใจจะรู้ว่า ความสุขที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่การได้มาซึ่งสิ่งของต่าง ๆ แต่ความสุขที่แท้จริงมาจากความสงบของจิตใจต่างหาก เมื่อเห็นเช่นนั้นแล้วใจก็เกิดปัญญา เกิดความรู้ขึ้นมาว่า การมีอะไรมาก ๆ แทนที่จะมีความสุขกลับมีความทุกข์ ยิ่งมีมากก็ยิ่งทุกข์มาก เพราะจะมีความห่วง มีความอาลัยอาวรณ์กับสิ่งต่าง ๆ มากขึ้นไปนั่นเอง ถ้ามีน้อย ความทุกข์ก็น้อย ถ้ามีลูกคนเดียว ก็ทุกข์กับลูกเพียงคนเดียว ถ้ามีลูก 10 คน ก็ต้องทุกข์กับลูกถึง 10 คน ความทุกข์ก็เพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ เมื่อมีปัญญา เราจะรู้ความจริงว่า แม้กระทั่งลูกของเรา เราก็ต้องจากเขาไป หรือเขาก็ต้องจากไปเราไปในวันหนึ่ง ถ้าคิดอย่างนี้แล้ว เราก็จะปล่อยวาง ไม่ไปยึดไปติดกับเขา เขาจะอยู่กับเราก็ดี เขาจะจากเราไปก็ดี ถ้าเราทำใจได้แล้ว จะมีมากมีน้อย เราก็จะไม่ทุกข์ เพราะว่าความทุกข์เกิดจากความไม่รู้จริง ความทุกข์จะดับได้ก็เกิดจากความรู้จริงหรือความรู้ทางพระพุทธศาสนา ดังที่ท่านได้ยินได้ฟังกันในวันนี้ นี่แหละคือความรู้จริง เพราะเป็นความรู้ที่เป็นตามหลักความเป็นจริง เป็นความรู้ที่ไม่ได้ผิดเพี้ยนไปจากความจริง ความคิดของพวกเราส่วนใหญ่จะเป็นความคิดที่สวนกระแสของความจริง เช่นคิดว่าอยากจะให้ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่กับเราตลอดไป ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด เป็นสิ่งที่เราจะต้องมาแก้ไขเสียตั้งแต่บัดนี้ เราจึงต้องมองให้เห็นว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงมีการสูญสลาย มีการดับไปเป็นธรรมดา ไม่ช้าก็เร็วทุกสิ่งทุกอย่างก็ต้องหมดสิ้นไปจากเรา เราก็ต้องจากเขาไปในที่สุด ถ้าคิดอย่างนี้แล้ว จะได้ไม่ยึดไม่ติดกับสิ่งต่างๆ เมื่อไม่ยึดไม่ติดแล้ว ใจก็จะหลุดพ้นจากความทุกข์ ความกังวลใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีใครปรารถนากัน แต่เราก็ยังมีกันอยู่ ก็เป็นเพราะเราไม่ได้อบรมสอนใจ ไม่ได้ดูใจ ในขณะที่ใจกำลังคิดเรื่องอะไรอยู่ เราก็ไม่ค่อยรู้กัน เวลาเห็นอะไรที่เราชอบ ก็เกิดความอยากลึก ๆ ขึ้นมาในใจแล้ว อยากจะให้สิ่งนั้นอยู่กับเราไปนาน ๆ นี่ก็เป็นความคิดที่ผิดแล้ว เป็นความคิดที่ตรงกันข้ามกับความเป็นจริง ตามความเป็นจริงแล้ว ไม่มีอะไรจะอยู่กับเราไปตลอดอยู่กับเราไปได้นาน เราจึงต้องมาเปลี่ยนแปลงความคิดใหม่ โดยเอาความคิดหรือความรู้ของพระพุทธเจ้ามาใส่ใจเรา มาสอนใจเรา พยายามเตือนสติเราอยู่เสมอว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ เป็นของไม่เที่ยงแท้แน่นอน ไม่ควรไปยึดไปติด เราจะไม่ทุกข์ เราจะมีแต่ความสุข
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น