วันจันทร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ประวัติ "ไอศกรีม"หรือที่เรียกว่า "ไอติม"ในประเทศไทย

ประวัติ "ไอศกรีม"หรือที่เรียกว่า "ไอติม"ในประเทศไทย

ไอศกรีม" หรือ "ไอติม" ที่คนไทยเรียกกันนั้น เป็นของหวาน และเย็น ที่ชื่นชอบกันทุกเพศทุกวัย ทุกชาติ ทุกภาษา ที่สำคัญสามารถ ปรับประยุกต์ ให้เข้ากับความนิยมของแต่ละชาติได้อย่างน่าอัศจรรย์ จนอาจจะกล่าว ได้ว่า ไอศกรีมเป็นอาหารของคนทั้งโลกา รได้กินไอศกรีมถือเป็นความสุขอย่างหนึ่ง

"ไอศกรีม" ทับศัพท์จากภาษาอังกฤษ Ice Cream จนคนทั่วไปคิดว่า มีถิ่นกำเนิดมาจากตะวันตก แต่จริง ๆ แล้วกำเนิดในประเทศจีนนี่เอง เกิดจากการ นำหิมะ บนยอดเขามาผสมกับนํ้าผลไม้ และกินในขณะ ที่หิมะยัง ไม่ทันละลายดี จนปลายศตวรรษที่ 13 มาร์โคโปโล เดินทางไปจีน และชื่นชอบ จึงนำสูตรกลับไป อิตาลีขณะเดินทางมีการเติมนมลงไป กลายเป็นสูตร ของเขาโดยเฉพาะ และแพร่หลายไปในอิตาลี ฝรั่งเศสและข้ามไปอังกฤษ คนอิตาลีถือว่าตนเองเป็นต้นตำรับไอศกรีมแบบที่นำมาปั่นให้เย็นจนแข็ง เรียกว่าเจลาติน (Gelatin) แล้วแพร่หลายไปในฝรั่งเศสช่วงศตวรรษที่ 16 ข้ามไปอเมริกา ในช่วงต้นศตวรรษที่ 17 กลายเป็นที่ชื่นชอบของคนอเมริกันมาก ประธานาธิบดีจอร์จ วอชิงตัน ลงทุนถึง 200 ดอลลาร์ซื้อเครื่องปั่นไอศกรีม ไปทำกินเองในหน้าร้อน ในเมืองไทยไอศกรีมเข้ามาช่วงไหนไม่มีหลักฐานแน่ชัด แต่คาดว่าคงมาหลังสมัย ร.5 ซึ่งมีการผลิตนํ้าแข็งกินเอง ไอศกรีมตอนนั้น ทำจากนํ้าหวานหรือนํ้าผลไม้นำไปปั่นเย็นจนแข็ง ไม่มีนมหรือครีมผสมด้วย เรียกว่า "ไอติม" ใช้แรงคนในการปั่น โดยมีหม้อทองเหลือง เส้นผ่าศูนย์กลาง 50-60 ซม.สูง 30 ซม.ภายในมีรูคล้ายลังถึงสำหรับเสียบกระบอกโลหะ ทรงกลมขนาด เส้นผ่าศูนย์กลาง 2 ซม. ภายในบรรจุนํ้าผลไม้หรือนํ้าหวาน กระบอกนี้คือแม่พิมพ์ที่ทำให้ไอติมเป็นแท่ง

การปั่นต้องใช้มือจับหูหม้อทองเหลืองทั้ง 2 ข้าง และแกว่งหรือหมุนไปมาในถังไม้ที่ใส่นํ้าแข็งผสมเกลือ หลังจากปั่นได้ 1/2 - 1 ชม.ไอของความเย็นจะเริ่มเกาะรอบนอกของกระบอก นํ้าหวานข้างในจะเริ่มแข็งตัว ช่วงนี้เองที่ต้องเสียบไม้เข้าไป ตรงกลางเพื่อ เอาไว้จับกิน หมุนต่อไปอีกจนไอติมแข็งตัว จึงเอากระบอกโลหะไปจุ่มในนํ้าอุ่นเพื่อ ให้ดึงไอติมออกจากกระบอกง่ายขึ้น นำไปใส่กระติกเร่ขาย ปัจจุบันมีพ่อค้าฟื้นการทำไอติมแบบนี้ออกขายด้วย

ต่อมาบริษัทป๊อบผู้ผลิตไอศกรีมตราเป็ด ซึ่งเป็นผู้ผลิตไอศกรีมรายแรกของเมืองไทย ได้สั่งซื้อเครื่องทำไอศกรีมจากต่างประเทศ มาผลิตไอศกรีมได้ครั้งละมาก ๆ เน้นความสะอาดและคุณภาพ ทำให้ไอศกรีมเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็ว ไอศกรีมตราเป็ดยุคแรก ๆ ยังเป็นไอติมหวานเย็น ต่อมาจึงมีการดัดแปลงรสชาติใหม่ ๆ เป็น เป็นรสระกำ เฉาก๊วย ลอดช่อง โอเลี้ยง ข้าวเหนียวแดง ถั่วดำ ฯลฯ พร้อมกับนำสูตรใส่นมจากต่างประเทศใส่ถ้วย ทำให้เนื้อไอศกรีมละเอียดและเนียนคนจึงนิยมกินไอศกรีมใส่นมหรือครีมกันมาก

อย่างไรก็ตามคนไทยสามารถดัดแปลงไอศกรีมจนเป็นเอกลักษณ์ของไทยคือ ไอติมกะทิ โดยใช้กะทิสดผสมนํ้าตาล ใส่แทนนมและครีม ที่อาจจะเป็นไปได้มากว่าไอศกรีมกะทิมีต้นกำเนิดจากเมืองไทยเป็นแห่งแรก และไม่ต้องใช้กระบอกทำเป็นแท่ง แต่ใช้ตักใส่ถ้วยเป็นลูก ๆ ซึ่งมีคำเรียกขานใหม่ว่า "ไอติมตัก" ต่อมาจึงมีการตักใส่ถ้วยกรอบ และขนมปังผ่ากลาง จุดเด่นของไอศกรีมกะทิคือดัดแปลงให้มีรสชาติต่าง ๆ ได้ง่าย เช่น เติมลอดช่อง เม็ดแมงลัก ข้าวโพด ขนุน ทุเรียน และเผือก เป็นต้น

"ไอติมตัก" เจ้าอร่อยสมัยก่อนอยู่แถวคลองหลอด และเยาวราช โดยเฉพาะ ที่เยาวราช เป็นรถเข็นอยู่ในซอยข้างธนาคารไทยพาณิชย์ คนขายเป็นอาแป๊ะ อัธยาศัยไมตรีดีมาก ตั้งเก้าอี้ให้คนกินรอบ ๆ รถ มีคนรอต่อคิวกินกันบ้านหลาม คนหนึ่งลุกอีกคนนั่งต่อทันทีราวกับเก้าอี้ดนตรี ท่านที่อยากลิ้มลองไอติมเจ้าเก่า ขายมากกว่า 40 - 50 ปี ตอนนี้มีอยู่ร้านหนึ่งใกล้ ๆ กับภัตตาคารแกแล็กซี่ ถ.พระราม 4 ร้านนี้เป็นร้านขวัญใจ คนเดิมของคอไอติม ย่านศรีนคร แม้จะย้ายมาอยู่ ณ ที่ปัจจุบันก็ยังรักษาเอกลักษณ์ และความอร่อยอยู่

ไอศกรีมในเมืองไทยสมัยแรก ๆ จะเรียกว่าเป็นอุตสาหกรรม ภายในครัวเรือน ก็ว่าได้ ไม่ค่อยมียี่ห้อ บ้านไหนมีฝีมือก็ทำออกมา ใครมีหัวการค้าก็มีคน รับไปขายอีกต่อหนึ่ง นักเรียนหลายคนมารับไปขาย เป็นรายได้พิเศษ หลังเลิกเรียน ขณะที่ผู้ใหญ่อีกเป็นจำนวนมาก ที่ขายไอติม เป็นอาชีพหลัก และเป็นอาชีพที่ไม่ต้องลงทุนมาก เพียงแต่วางเงินมัดจำค่ากระติกใส่ไอติมและต้นทุนอีกเล็กน้อย ก็สะพายขึ้นไหล่ไปขายได้ทันที จากกระติกสะพายไหล่กลายเป็นรถเข็นที่มีตู้เก็บความเย็น สามารถใส่ไอติมได้คราวละมาก ๆ เดินเข็นขายได้ทั้งวัน ต่อมาจึงเป็นซาเล้งหรือสามล้อถีบ ซึ่งช่วงแรก ๆ ยังไม่นิยมนักเพราะต้นทุนสูง บริษัทป๊อปจึงลงทุนทำเป็นรถซาเล้งเพิ่มขึ้น มาจึงได้รับความนิยมเพราะคนขายไม่ต้องซื้อรถเอง โดยไอติมตราเป็ดเป็นยุคแรก ๆ ที่เริ่มพัฒนามาใช้รถสามล้อถีบ คนขายมีถือ Duck Call เสียงดังคล้ายเป็ด เพื่อเรียกลูกค้า นับตั้งแต่นั้นมาสามล้อถีบก็กลายเป็นทั้งสัญลักษณ์ และกลยุทธ์ในการขายไอศกรีม หลายยี่ห้อ เช่น โฟร์โมสต์ ครีโม วอลล์ ฯลฯ ไอติมเหล่านี้มีลูกเล่นกับลูกค้าหลายรูปแบบ บางคนอาจจะเคยกินไอติมที่ปลายไม้ป้ายสีแดง แล้วนำไปแลกได้ฟรีอีก 1 แท่ง ขณะที่ไอติมป๊อปใช้วิธีสลักคำว่าฟรีบนไม้ ใครพบคำนี้นำมาแลกฟรี 1 แท่ง บางยี่ห้อใช้วิธีทายไม้สั้นไม้ยาว กำถั่ว โยนหัวโยนก้อย เหล่านี้เป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่ได้ผลดีมาก ซาเล้งขายไอติมซึ่งมีทั้งแบบแท่งและถ้วยครองตลาดอยู่นาน ขณะที่ร้านขายไอศกรีมยังไม่มีใครทำ กระทั่งปี 2520 "ศาลาโฟร์โมสต์" จึงเกิดขึ้น และเป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่นมาก เด็กมัธยมสมัยนั้นเลิกเรียนหรือดูหนังเสร็จ ต้องนัดกันไป ที่ศาลาโฟร์โมสต์ ไม่กี่ปีหลังจากนั้นการแข่งขันก็เริ่มรุนแรงขึ้น ไอศกรีมลิขสิทธิ์ต่างประเทศ เข้ามาเมืองไทยอย่างมากมาย เช่นสเวนเซ่นส์,บาสกิ้น - รอบบิ้น และแดรี่ควีน

ในทางการค้าปัจจุบันมีการจัดกลุ่มไอศกรีมไว้หลายประเภทเช่น Plain Ice Cream ไอศกรีมที่ประกอบด้วยสารให้สีและกลิ่นในปริมาณน้อยกว่า 5% ของส่วนผสมทั้งหมด ,Chocolate มีส่วนผสมของโกโก้หรือชอกโกแลต, Fruit ไอศกรีมประกอบด้วย ผลไม้หรือกลิ่นผลไม้,Nut ไอศกรีมที่ผสมผลไม้เนื้อแข็ง เช่นอัลมอนด์ วอลนัท ถั่วลิสง ฯลฯ, Frozen Custard, French Ice Cream และ French Custard Ice Cream ไอศกรีมที่มีส่วนผสมของไข่แดงไม่น้อยกว่า 1.4 % ของนํ้าหนักผลิตภัณฑ์, Fruit Sherbet ไอศกรีมทำจากนํ้าผลไม้ นํ้าตาลและนม ,Confection ไอศกรีมที่มี ลูกกวาดผสม เช่น Chocolate Chip, Neapolitan ไอศกรีม 2 รสในถ้วยเดียวกัน,Soft Serve Ice Cream หรือ Ice Milk ไอศกรีมที่ไข จากเครื่องปั่นไอศกรีมโดยตรงไม่ใช้การตัก และ Rainbow Ice Cream ไอศกรีมที่ไขจากเครื่องปั่นเช่นเดียวกัน แต่มีสีต่าง ๆ 6 สีขึ้นไป

ไอศกรีมเป็นอาหารที่ให้พลังงานสูง จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่ใช้ทำ ที่สำคัญเหมาะกับเด็กที่กำลัง เจริญเติบโตหรือคนที่ต้องการเพิ่มน้ำหนัก ปัจจุบันมีการผลิตไอศกรีมภูมิปัญญาไทยจากผลไม้ และสมุนไพรของไทยเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก บางอย่างไม่นึกว่าจะทำได้ เช่น กล้วยเล็บมือนาง น้อยหน่า มะขาม เสาวรส หรือไอศกรีมดอกไม้ เช่นดอกกุหลาย ดอกเก๊กฮวย และดอกกระเจี๊ยบแดง เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น