วันจันทร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2552






*-*ดนตรีตะวันตก*-*


จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์สามารถแบ่งยุคประวัติความเป็นมาของดนตรีตะวันตกได้ 6 ยุค ได้แก่ ยุคกลาง ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ ยุคบาโรก ยุคคลาสสิค ยุคโรแมนติก และยุคคริสตศตวรรษที่ 20 ตั้งแต่ยุคกลางจนถึงยุคปัจจุบันมีการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ๆ ทางด้านดนตรีตะวันตกเรื่อยมา อาทิ ทฤษฎีดนตรี โครงสร้างของดนตรี เครื่องดนตรีและวงดนตรีมาตรฐาน เทคนิคการเล่นเครื่องแต่ละชนิด การประสานเสียง และการประพันธ์เพลง เป็นต้น 1. ยุคกลาง (The Middle Ages : ค.ศ. 450 - 1450) ดนตรียุคกลางส่วนใหญ่เป็นเพลงร้อง เครื่องดนตรีมีหลายชนิด แต่มีบทบาทเพียงแค่ใช้เล่นคลอประกอบการร้องเท่านั้น จากหลักฐานมีโน๊ตเพลงต้นฉบับเพียง 2 – 3 เพลงเท่านั้นซึ่งเป็นหลักฐานแสดงถึงการประพันธ์เพลงให้กับเครื่องดนตรีบรรเลงเด่นเป็นพิเศษเท่านั้น เมื่อพิจรณาจากภาพเขียนในยุคกลางแล้ว วิเคราะห์ได้ว่ามีการใช้เครื่องดนตรีไม่มากชิ้น คริสต์จักรในยุคกลางยังไม่ให้ความสำคัญกับเครื่องดนตรีมากนัก เพราะถือว่าเป็นเครื่องมือที่ใช้บรรเลงในการประกอบพิธีกรรมของคนต่างศาสนา ต่อมาประมาณ ค.ศ. 1100 จึงเริ่มมีการใช้เครื่องดนตรีในโบสถ์มากขึ้น โดยใช้ออร์แกน (organ) เป็นหลักในการบรรเลงดนตรีประกอบพิธีกรรมทางศาสนาคริสต์ เพลงร้องในสมัยกลางได้แก่ เพลนซานท์ (plainchant) ออกานุม (organum) โมเทต (motet) และเพลงนอกวัด (secular music) เป็นต้น เพลนซานต์หรือเพลนซอง (plainsong) เป็นเพลงสวดสำหรับร้องในโบสถ์ เป็นเพลงสวดอย่างเป็นทางการของโบสถ์โรมันคาทอลิกมานานกว่า 1,000 ปีในระหว่างยุคกลางต่อมาเพลงสวดแบบนี้รู้จักกันในชื่อเกรกอเรียนซานต์ (Gregorian Chant) เพราะพระสันตะปาปาเกรกอรี 1 (Pope Gregory 1 : ค.ศ. 590 - 604) เป็นผู้รวบรวมจัดหมวดหมู่เพลงสวดเข้าด้วยกัน ถือกันว่าเป็นหลักฐานสำคัญที่มีคุณค่ายิ่งของดนตรีตะวันตก พระสันตะปาปาเกรกอรีทรงรวบรวมเพลงเพลนซานต์ไว้ในหนังสือปกงาช้าง หลักฐานดังกล่าวปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภันณฑ์คุนสท์ฮิสทอรอสเซส (Kunsthistorishes Museum) เมืองเวียนนา ประเทศออสเตรีย เกรกอเรียนซานต์มีลักษณะเป็นดนตรีทำนองเดียว กำกับบทสวดภาษละติน อันศักดิ์สิทธิ์ ขับร้องโดยไม่มีเครื่องดนตรีประกอบแนวทำนองมีช่วงเสียงจำกัดไม่เกินคู่ 5 มีการบันทึกเกรกอเรียนซานต์เป็นโน๊ตเพลงเรียกว่า neumatic notation ออกานุมคือเพลงสวดประเภทที่มีทำนองมากกว่าหนึ่งแนว (polyphony) ชนิดแรกของดนตรีตะวันตก ขั้นแรกถูกพัฒนาใน ค.ศ. 700 – 900 โดยพวกนักบวชได้เพิ่มแนวที่สองลงในเกรกอเรียนซานต์แบบด้นสด (improvisation) แต่มิได้มีการบันทึกไว้เป็นโน๊ต แนวที่เพิ่มเป็นไปในลักษณะคู่ 4 หรือคู่ 5 ขนานไปกับทำนองหลัก ขั้นต่อมาออกานุมได้รับการพัฒนาใน ค.ศ. 900 – 1200 แนวที่เพิ่มเติมขึ้นในเกรกอเรียนชานต์ เป็นแบบอิสระซึ่งเป็นได้ทั้งขนานหรือสวนทางกับทำนองหลักออกานุมในช่วงนี้จึงกลายเป็นดนตรีหลายแนวอย่างแท้จริงและตั้งแต่ ค.ศ. 1100 เพลงสวดในคริสต์ศาสนาเริ่มมีหลากหลายทำนองในเวลาเดียวกัน แต่ละแนวทำนองเป็นอิสระต่อกันทั้งในด้านทำนองและจังหวะ ดนตรีที่มีมากกว่า 1 ทำนองในเวลาเดียวกัน ซึ่งประพันธ์ขึ้นในคริสต์ ศตวรรษที่ 12 – 14 ส่วนใหญ่เป็นผลงานของคีตกวีทางเหนือของฝรั่งเศส ออกานุมที่สมบูรณ์ที่สุดที่เป็นผลงานของสำนักนอตเตรอดาม (Notre Dame School) เพลงสวดของสำนักนี้มีทำนองเสียงยาว ทำหน้าที่เป้นแนวต่ำหรือแนวเทอเนอร์ ส่วนแนวที่เพิ่มเติมจะเป็นโน๊ตเสียงสั้นกระชับสอดประสานกันไปเรียกว่า ดูปลัม (duplum) ทั้ง 2 แนวจะเคลื่อนไปจนถึงจุดที่แนวเทอเนอร์มีโน๊ตสั้นกระชับใกล้เคียงกับดูปลัม จุดนี้เรียกว่าคลอซูลา (clausula) จุดดังกล่าวได้รับการพัฒนาให้เป็นแบบอย่างในการประพันธ์เพลงโมเทตในเวลาต่อมา โมเทตคือเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับคริสต์ศาสนา พัฒนาโดยนำทำนองมาจาก เพลงเกรกอเรียนชานต์ เป็นแนวเสียงต่ำหรือแนวเทอเนอร์ และเพิ่มแนวทำนองอีก 2 ทำนองที่มีโน๊ตเพลงกระชับกว่าแนวเทอเนอร์ นอกจากนี้ยังมีดนตรีที่คล้ายกับโมเทต คือ กอนดุกตุส (conductus) เกิดขึ้นเมื่อประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 11 มีทำนอง 2 – 4 แนว แนวเทอเนอร์ถูกประพันธ์ขึ้นใหม่มิได้นำมาจากเกรกอเรียนชานต์ ส่วนเนื้อหาของกอนดุกตุสมีหลากหลาย เช่น เนื้อหาเกี่ยวกับศาสนา การเมือง สังคม และศีลธรรม เป็นต้น เพลงนอกวัด ปรากฏขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12 และ 13 โดยกวีในราชสำนักฝรั่งเศส 2 กลุ่ม คือ ทรูบาดูร์ (troubadour) จากทางใต้ของฝรั่งเศสมีกวีที่มีชื่อเสียงคือ กีโยมที่ 9 (Gillaume IX) และทรูแวร์ (trouvere) จากทางเหนือของฝรั่งเศส มีกวีที่มีชื่อเสียงคือ ซาสเตอแลง เดอ เกวอย (Chastelain de Couei) เพลงนอกวัดมีเนื้อหาเกี่ยวกับความรักเป็นส่วนใหญ่นักดนตรีที่ร้องเพลงนอกวัดเรียกว่ามินสเตรล (minstrel) หรือจองเกลอ (jongleurs) นักดนตรีพเนจรเหล่านี้จะเดินทางไปแสดงดนตรีและการละเล่นผาดโผนตามปราสาท ร้านเหล้า โรงเตี๊ยม และจตุรัสกลางเมือง โดยใช้พิณฮาร์ป (harp) เครื่องสายที่ใช้คันชักเรียกว่าลูท (lute) เป็นเครื่องดนตรีประกอบ นักดนตรีมิได้เป็นผู้ประพันธ์เพลงเอง แต่เพลงที่ใช้ร้องถ่ายทอดสดต่อ ๆ กันมาแบบมุขปาฐะ โดยดัดแปลงให้ผิดเพี้ยนไปจากของเดิมบ้าง
fr

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น