
*-*"สารขาว'' ความสวยที่มาพร้อมกับความตาย*-*


" ขณะที่ อ๊อฟ นักศึกษาปี 4 และอดีตพริตตี้บอย เป็นอีกคนหนึ่งที่เคยลองฉีดยาเพื่อให้ผิวขาวขึ้น โดยได้รับคำแนะนำจากเพื่อนสาวประเภทสอง เคยฉีดครั้งแรกตอนอยู่ปี 1 มีการฉีดบ้างหยุดบ้างแล้วแต่เวลาและโอกาส จนกระทั่งอยู่ปี 4 ก็หยุดฉีดแต่หันมากินวิตามินเสริมแทน "ส่วนใหญ่เพื่อนที่ฉีดจะไปซื้อยามาแล้วไปให้คลินิกฉีดให้ แต่ไม่ใช่ทุกคลินิกที่จะฉีดให้ ฉีดครั้งหนึ่งต้องจ่ายค่าเข็ม 40 บาท ยาที่ซื้อมานั้นก็ซื้อมาจากร้านขายยาหน้าโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ตัวยาจะมีมาจากหลายประเทศ เช่น ไทย อินเดีย เยอรมนี ซึ่งของอินเดียจะมีราคาถูกสุด 70 บาท แพงสุดก็ 200-300 บาท แต่ถ้าเป็นของไทยก็ 100 กว่าบาท โดยตัวยานั้นจะแบ่งออกเป็น 2 ขวดใน 1 ชุด คือ ขวดที่มีไว้เสริมนมและอีกขวดเป็นตัวยาที่ทำให้ผิวขาว ส่วนตัวแรกๆ ก็ใช้ของอินเดีย แต่หลังๆ ก็หันมาใช้ของไทย และเลือกใช้เฉพาะตัวยาที่ทำให้ผิวขาว" อ๊อฟ บอกอีกว่า สำหรับผลหลังจากการฉีดผิวจะเนียน ละเอียดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ด้านความขาวก็ขาวขึ้นแต่ก็ไม่ชัดนัก แต่ก็จะขาวขึ้นเรื่อยๆ หลังจากฉีดเข็มต่อๆ ไป ซึ่งส่วนใหญ่การฉีดยาชนิดนี้จะนิยมฉีดกันในหมู่สาวประเภทสอง พริตตี้ เพราะบุคคลเหล่านี้ต้องมีการโชว์หน้า โชว์ตัวอยู่ตลอด ดังนั้น จึงต้องเสริมสร้างความมั่นใจให้ตัวเองดูดีขึ้น และจะฉีดกันมากในช่วงที่มีการประกวดต่างๆ เช่น การประกวดมิสทีฟฟานี่ หรือเวทีการประกวดต่างๆ "เรื่องผลข้างเคียงของการฉีดยานั้น ตนคิดว่า มีผลน้อยกว่าการกินยา เพราะการกินยากว่าจะเห็นผลต้องกินเป็นเวลานาน และกินในปริมาณที่มาก ดังนั้น จึงทำให้มีสารสะสมเยอะตามไปด้วย แต่การฉีดถ้าใช้ในปริมาณที่เหมาะสมก็ไม่มีผลอะไร" อ๊อฟ กล่าว
ด้าน รศ.นพ.นภดล นพคุณ นายกสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย หัวหน้าสาขาวิชาตจวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สารกลูตาไธโอน (Glutathione) หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า "สารขาว" เป็นสารต้านอนุมูลอิสระในร่างกายที่มีกำลังสูงเมื่อเปรียบเทียบกับวิตามินซี หรือวิตามินอี สารชนิดนี้เป็นสารที่ยับยั้งการทำงานของเม็ดสี ทำให้เม็ดสีของผิวหนังเปลี่ยน เม็ดสีที่อยู่ที่ผิวหนังมี 2 ชนิด ได้แก่ยูเมลานิน เป็นเม็ดสีหลักสำหรับคนเอเชีย หรือ นิโกร มีลักษณะผิวเป็นสีน้ำตาล ดำ และฟีโอเมลานิน จะเป็นเม็ดสีหลักสำหรับผิวฝรั่ง มีลักษณะผิวสีแดง ผมสีบลอนด์ ซึ่งการกินยาหรือฉีดสารกลูตาไธโอน เพื่อต้องการเปลี่ยนเม็ดสียูเมลานินให้เป็นเม็ดสีฟีโอเมลานิน ทั้งนี้ นอกจากใช้การฉีดแล้ว ยังมีในรูปแบบของอาหารเสริมอีกด้วย แต่มีสารกลูตาไธโอนอยู่ในปริมาณน้อย จึงทำให้ไม่ค่อยได้ผลหรือได้ผลน้อย ซึ่งทำให้ไม่มีผลข้างเคียงมากนัก สำหรับการฉีดเข้าเส้น เพื่อให้ผิวขาวก็เป็นการทำที่ไม่ถาวรเป็นเพียงเปลี่ยนการสร้างเม็ดสีเท่า นั้น และอาจทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ นอกจากนี้ ยังมีสารอีกหลายชนิดที่ทำให้ผิวขาวได้ เช่น ไฮโดรควิโนน เป็นยารักษาฝ้า และเป็นยาอันตรายอีกชนิดหนึ่ง เมื่อใช้แล้วทำให้ผิวหน้าดำได้ "ส่วนใหญ่จะมีการนำสารกลูตาไธโอนมาใช้ในคลินิก ซึ่งเป็นอันตราย ถ้าฉีดแล้วทำให้เกิดอาการแพ้ หรือถ้ารุนแรงกว่านั้น ก็อาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ยืนยัน และไม่มีการทำการศึกษาและทำการวิจัยอย่างเป็นระบบ รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไม่มีการรับรองการใช้ยากลูตาไธโอน ไม่มีการสนับสนุนทางการแพทย์ เป็นเพียงการรายงานการวิจัยที่ไม่ได้มีการศึกษาเปรียบเทียบ" รศ.นพ.นภดล ให้แง่คิดทิ้งท้ายว่า ขอวิงวอนให้แพทย์คำนึงถึงผลข้างเคียงและอันตรายที่จะเกิดกับผู้ป่วยด้วย และสำหรับผู้ป่วยเองนอกจากจะไม่เกิดผลดีต่อร่างกายแล้ว ยังต้องเสียเงินโดยใช่เหตุ การมีผิวคล้ำใช่ว่าจะมีผลเสียเสมอไป แต่กลับมีผลดีด้วยซ้ำ เพราะสามารถป้องกันแสงยูวีได้ ที่สำคัญคนผิวคล้ำเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนังน้อยกว่าคนผิวขาว